Hot Topic!

'เงินทอน' โมเดลทุจริตงบ

โดย ACT โพสเมื่อ Jun 28,2017

- - เดลินิวส์ วันที่ 28/06/60 - -

ทีมข่าวเฉพาะกิจ รายงาน
          
เป็นอีกคดีทุจริตร้ายแรงที่ต้องติดตามจนสุดทางสำหรับการเบิกจ่าย "งบอุดหนุนบูรณะและปฏิสังขรณ์วัด" ของ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(พศ.) ที่มีลักษณะใช้วัดเป็นทางผ่านเงินเข้ากระเป๋าเจ้าหน้าที่บางกลุ่มหน้าตาเฉยหรือที่เรียกกันว่า "เงินทอน"
          
นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และเลขานุการศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) สะท้อนถึงปัญหาทุจริตเงินทอนโดยตั้งข้อสังเกตเหตุที่กล้าทุจริตได้ขนาดนี้เป็นเพราะระเบียบบริหารราชการที่อาจมีช่องโหว่ หรือมีผู้หนุนหลังดี ทั้งนี้ เบื้องต้นพบเป็น การตรวจสอบงบตั้ง แต่ปี 2555 ซึ่งขณะนั้นต้องยอมรับปัญหาทุจริตอยู่ในภาวะวิกฤติ โดยส่วนหนึ่งมาจากกลไกของรัฐที่ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ส่งผลต่อโครงสร้างหลักระบบราชการที่อ่อนแอ โดยเฉพาะเมื่อผู้มีหน้าที่ตรวจสอบไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างครบถ้วนปัญหาทุจริตจึงมีจำนวนมากอย่างที่เห็น ไม่เพียงการทุจริตเงินทอนวัด แต่ยังรวมถึงทุจริตเชิงนโยบายในคดีจำนำข้าวหลายคดีที่เห็นในปัจจุบันเป็นผลพวงที่หน่วยตรวจสอบไม่สามารถทำหน้าที่
          
เลขานุการ ศอตช. ระบุที่ผ่านมาหลายคดีทุจริต ไม่ได้เกิดขึ้นจากโครงการใหญ่เสมอไป โครงการไม่ใหญ่แต่งบประมาณกระจายไปหลายพื้นที่ก็มีปัญหาทุจริตงบประมาณไปไม่น้อย เช่น กรณีก่อสร้างสนามฟุตซอลโรงเรียน กรณีจัดซื้อแผงโซลาร์เซลล์ กรณีจัดซื้อเครื่องออกกำลังกายและเครื่องเล่นสันทนาการและกรณีจัดซื้อรถดูดสิ่งปฏิกูล ซึ่งมีลักษณะจัดซื้อจัดจ้างราคาแพงกว่าปกติ โดยกรณีรถดูดสิ่งปฏิกูลทั่วไปจะมีราคาไม่ถึง 10 ล้านบาท แต่ข้อเท็จจริงที่พบคือจัดซื้อกัน ในราคา 17-18 ล้านบาท เป้าหมายจัดซื้อแพงก็ไม่ต่างกันคือหวังผลประโยชน์เหมือนเงินทอน
          
เมื่อย้อน ไปถึงทุจริตเงินทอนวัดที่เริ่มขึ้นจากการจับกุม ผอ. สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสงขลา เมื่อหลายปีก่อนมีการนัดทอนเงินกันกลางลานจอดรถ มีการจับกุมโดยพนักงานสอบสวนก่อนส่งสำนวนให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และ ป.ป.ช. ส่งสำนวนกลับไปให้พนักงานสอบสวนท้องที่ดำเนินการต่อโดยสรุปสำนวนส่งฟ้องอัยการ แต่อัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง ป.ป.ช. จึงดึงสำนวนกลับไปพิจารณาอีกครั้ง
          
สิ่งที่เห็นได้ชัดจากคดีนี้คือมีการเรียกรับเงินหรือเงินทอนจากวัด แต่ในกระบวนการกลับระบุว่าไม่ผิด ด้วยเหตุว่ามีผู้บริหารบาง รายไปรับรองว่าเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ทั้งที่ จริงเป็นไปไม่ได้เลยที่ระบบบริหาร ราชการจะปล่อยให้บริหารงบได้ง่ายขนาดนี้
          
"กรณีตัวอย่างของสงขลามีประเด็นสำคัญที่ต้องกลับไปทบ ทวนการแก้ปัญหาทั้งเรื่องทุจริตเรื่องระบบตรวจสอบว่าอ่อนแอหรือไม่ ในเมื่อพบการไปเรียกรับเงินชัดเจน แต่กลับสั่งไม่ฟ้องรวมถึงเหตุใดถึงมีการกล้าออกมารับรองว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ ทั้ง3 เหตุการณ์บ่งชี้ความอ่อนแอเชิงระบบ และจำเป็นต้องหาทางแก้ไขไปพร้อมกัน"
          
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ศอตช. ได้ประสานขอข้อมูลย้อนหลังจากพศ. เพื่อนำไปพิจารณาหาทางป้องกันเชิงระบบในระยะยาวแล้ว ทั้งนี้ มองว่าเรื่องดังกล่าวต้องทำอย่างเด็ดขาดคือลงโทษอย่างจริงจังบนพื้นฐานความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายโดยต้องทำอย่างรวดเร็ว หากไม่เร็ว คนก็ไม่กลัว
          
ด้าน นายมานะ นิมิตรมงคลผอ.องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น มองปัญหาทุจริตเงินทอนวัดซึ่งกล้าเรียกรับเงินทอนสูงมากว่าเป็นเพราะกระ บวนการทำงานที่มีลักษณะปิด และมีผู้มีอำนาจเกี่ยวข้องเพียงไม่กี่คน จึงย่ามใจ ก่อนหน้านี้ก็มีกรณีการใช้งบอุดหนุนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับวัดซึ่งมีลักษณะเดียวกันคือมีการติดต่อจากส่วนกลางแจ้งการโอนเงินไปยังวัด และให้เจ้าอาวาสวัดโอนเงินกลับ
          
ปัจจุบันเห็นว่ายังมีความ เชื่อกันผิด ๆ ว่าโกงเงินหลวงแล้ว ไม่มีใครเดือดร้อน เพราะไม่ได้ไปโกงเงินในกระเป๋าใคร จากข้อมูลบางวัดที่รับไว้เพราะกลัวว่าจะมีปัญหายุ่งยากในการอยู่ร่วมกันจึงต้องไปตามน้ำ คิดว่าไม่ทำให้ใครเดือดร้อน
          
ทั้งนี้ มีข้อเสนอถึงกรณีที่รับงบประมาณอุดหนุน เพื่อความโปร่งใสควรมีการเผยแพร่ข้อมูล ลงในเว็บไซต์รวมถึงให้วัดติดประกาศจำนวนเงินที่ได้รับอย่างชัดเจน ระบุรายละเอียดการรับโอนและหากมีการเรียกร้องให้โอนเงินกลับไปที่บุคคลใดก็ให้ติดประกาศถึงผู้รับโอนว่าเป็นเงินค่าใช้จ่ายใดด้วย เพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ
ส่วนตัวเชื่อว่ากลไกนี้จะทำให้เกิดการตรวจสอบจากภาคประชาชนอีกทางหนึ่งและไม่ทำให้วัดหรือเจ้าอาวาสตกเป็นเป้าเพียงลำพังด้วย
สิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นพฤติกรรมทุจริตรุนแรงที่ไม่เพียงสร้างความเสียหายต่องบประมาณรัฐแต่ยังกระทบไปถึงภาพลักษณ์ของบุคลากรในวงการศาสนาซึ่งต้องเร่งเก็บกวาดให้เร็วที่สุดด้วยการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดทั้งขบวนการ.

สำนวนเงินทอนในมือ ป.ป.ช.         
กองบังคับการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) ส่งมอบสำนวนการตรวจสอบกรณีเงินทอนของวัดลอตแรกให้ ป.ป.ช. ไต่สวนความผิดตามมาตรา 147 ฐานเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์สินใดเบียดบังทรัพย์สินนั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสียมาตรา 157 ฐานเป็นเจ้าพนักงานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตรวม 12 แห่ง ในพื้นที่ 6 จังหวัด ประกอบด้วยวัดในพื้นที่ จ.ลำปาง 5 วัด, อำนาจเจริญ 3 วัด, ลำพูน 1 วัด, พระนครศรีอยุธยา 1 วัด, เพชรบุรี 1 วัด และชุมพร 1 วัด ความเสียหายกว่า 60 ล้านบาท
          
หลังจากนี้ บก.ปปป. เตรียมขยายผลตรวจสอบวัดเป้าหมายอีก 400 แห่ง เพื่อสรุปสำนวนส่งให้ ป.ป.ช. เพิ่มเติม ขณะที่ ป.ป.ช. เองมีข้อมูลจากการขยายผลกรณีเงินทอนของอดีต ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดสงขลาเมื่อปี 2558 พบวัดอีกกว่า 60 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ เช่น สงขลา นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และ สตูล มีโมเดลกระทำผิดคล้ายกัน.